รัฐบาลไทยออกมาเตือนประชาชนอย่าแตกตื่น หลังพบมีผู้เสียชีวิตรายแรกหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ชี้
ผู้มีอาการป่วยเดิมอยู่ก่อนหน้า และเพิ่งผ่านการผ่าตัดก่อนฉีด ยืนยันยังคงแจกวัคซีนโควิด-19 ให้กับ
ประชาชนต่อไป ขณะที่ “วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา
เมื่อวานนี้ (25 มี.ค.) ให้สามารถใช้ในไทยได้
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (26 มี.ค.) ว่า กระทรวงสาธารณสุขไทยออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุการเสียชีวิตรายแรกจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชี้ ผู้ป่วยเป็นชายมีโรครุมเร้าอยู่ก่อนหน้า โดย นพ.โสภณ เมฆธน
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงว่า สาเหตุการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากภาวะเส้นเลือดในท้องโป่งพองแตก (abdominal aortic aneurysm :AAA)
ผู้ตายได้รับวัคซีนโควิด-19 ในวันที่ 3 มี.ค และเสียชีวิตในอีก 10 วันหลังจากนั้นคือ เมื่อวันที่ 13 มี.ค
อย่างไรก็ตาม นพ.โสภณ ยืนยันกับนักข่าวว่า เขาเชื่อมั่นว่า การเสียชีวิตเกิดมาจากโรคหลอดเลือดโป่งพองไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อ หรืออายุ พบว่า มีโรคเดิมอยู่ก่อนหน้า และได้รับการผ่าตัดเมื่อเดือนมกราคม 1 สัปดาห์ก่อนฉีดวัคซีน โดย นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้กล่าวถึงในเคสนี้ว่า “เหมือนมีระเบิดเวลาอยู่ในท้อง” ของผู้ป่วย
การเสียชีวิตรายแรกหลังจากฉีดวัคซีนในไทย ซึ่งยังไม่ทราบว่าผู้ตายได้รับวัคซีนตัวใด เพราะที่ผ่านมา ภาครัฐได้แจกวัคซีนซิโนแวคของจีน และในส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาได้มีการแจกจ่ายออกมาแล้วเช่นกัน
ซึ่งในวันพฤหัสบดี (25) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไทย อนุทิน ชาญวีรกูล ได้แถลงว่า องค์การอาหารและยาได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ให้สามารถใช้ในไทยได้
กลายเป็นวัคซีนตัวที่ 3 ที่ถูกอนุมัติ โดยวัคซีนจอห์นสันมีความพิเศษที่มีขนาดการใช้โดสเดียว มีประสิทธิภาพรักษาในเคสผู้ป่วยหนัก 85% ระยะเริ่มต้นและปานกลาง 66%
ทั้งนี้ ก่อนหน้านายกรัฐมนตรีและคณะที่มีการเลื่อนการรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าออกไป เนื่องมาจากปัญหาโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำเกิดขึ้นในยุโรป โดย นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
เมื่อวันที่ 16 มี.ค ที่ผ่านมา และกลุ่มอื่นที่ได้รับ คือ กลุ่มเจ้าหน้าที่การแพทย์ ซึ่งเป็นด่านแรกในการเผชิญวิกฤต กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สีแดง หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านอายุ หรือปัญหาด้านสุขภาพ
รัฐมนตรีสาธารณสุขยังเรียกร้องประชาชนอย่าตื่นกลัวและให้ออกมารับวัคซีนโควิด-19 และมาจนถึงเวลานี้ไทยยังไม่มีการประกาศแผนยกเลิกฉีดถึงแม้ว่าจะพบการเสียชีวิตเกิดขึ้น
ซึ่งสำหรับเสียชีวิตของผู้ป่วย นพ.ทวี กล่าวในรายงานของหนังสือพิมพ์ไทย ระบุว่า หลังจากผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนในวันแรกและวันที่ 3 ปกติดี หลังจากนั้น ระบบติดตามวัคซีนติดต่อไม่ได้ จากนั้นวันที่ 7
หลังฉีดมีอาการหน้ามืดเป็นลม จุกที่ลิ้นปี่ หอบเหนื่อย ส่งตัวแอดมินเข้าโรงพยาบาล จากนั้นมีอาการหนักขึ้นและเสียชีวิต
และเขาสันนิษฐานว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจากหลอดเลือดแตกหรือรั่วซึม ซึ่งเป็นโรคเดิมอยู่แล้ว แต่บังเอิญว่าไปรับวัคซีนมาพอดี แต่การเสียชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นผลจากการรับวัคซีน